คนไทยติดนิสัยชอบผ่อน ... จริงหรือ มาดูสวีเดนกัน
"คนไทยชอบผ่อน" เป็นประเด็นที่กำลังเป็นกระแส
และผู้พูดยกตัวอย่างการซื้อบ้าน ว่าถ้าซื้อเงินสด จะถูกกว่าการซื้อเงินผ่อน
(ขอบอกก่อนว่า ไม่ได้มีเจตนาร้ายกับผู้พูด และเข้าใจความหมายของผู้พูด แต่อยากแบ่งปันอีกมุมอื่น ๆ ด้วย)
มุมแรก
มาดูว่าคนสวีเดนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย (บ้าน หรืออพาร์ตเมนต์) กันกี่เปอร์เซ็นต์
และในบรรดาผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีบ้านเป็นของตัวเอง มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ซื้อสด/ผ่อนหมดแล้ว และกี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังต้องผ่อนค่าบ้านอยู่
มุมที่สอง
อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้ครูหวนคิดถึงเรื่องที่ครู และคนใกล้ชิดที่เป็นฝรั่งคนหนึ่ง เคยถกกันหลายครั้ง ถกจนครูเลิกถกไปเอง เพราะโลกแห่งความเป็นจริง กับสมการทางคณิตศาสตร์ หลายครั้งมันสวนทางกัน
เขาคิดว่า “ทำไมชาวบ้านไม่ซื้อน้ำมันขวดใหญ่ ยาสีฟันหลอดใหญ่ เพราะมันถูกกว่าซื้อขวดเล็ก และหลอดเล็ก”
ที่สวีเดนจะมีราคาเปรียบเทียบ (jämförpris) ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัด ว่าซื้อขนาดใหญ่ ราคาต่อหน่วยจะถูกกว่าซื้อขนาดเล็ก เพื่อสะดวกต่อการตัดสินใจ
ครูพยายามอธิบายว่า “เพราะเขาหาเช้ากินค่ำ เงินเขามีเท่านั้น ถ้าเขาซื้อน้ำมันขวดใหญ่ เขาก็ไม่มีเงินพอซื้อกับข้าวอย่างอื่น ถ้าเขาซื้อยาสีฟันหลอดใหญ่ เขาก็ไม่มีเงินซื้อกับข้าว … เขากินยาสีฟันแทนข้าวไม่ได้”
บทสรุปของครูคือ “เพราะความจนทำให้เขาต้องจ่ายแพงกว่า”
:::
ครูจำได้ว่าสมัยเป็นเด็ก ย่าทำไข่เจียวน้ำให้กิน เหตุผลเพราะว่า น้ำมันหมูมันแพง (ถ้าจำไม่ผิด ถุงเล็ก ๆ ขนาดประมาณนิ้วโป้ง ยาวประมาณ ๑ ฝ่ามือ แต่มีน้ำมันไม่ถึงครึ่งถุง ราคา ๑ หรือ ๒ บาท)
ครูไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยากจน เพราะแทบทุกคนในหมู่บ้าน อยู่ในสภาพเดียวกัน
(ไม่เหงา ไม่แตกต่าง และเท่าเทียมกันมาก :-))
ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่และญาติ ๆ ช่วยกันส่งครูเรียน จนได้รับฉายาว่า "เด็กหญิงลงขัน" ญาติ ๆ ลงขันส่งเรียน
มาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ที่สวีเดน ก็กู้เงินธนาคารมา
โตมา ครูได้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่เรียนก่อนผ่อนจ่ายภายหลัง
เพราะความช่วยเหลือของญาติ ๆ และเงินกู้ ครูจึงได้มาอยู่จุดนี้
ครูไม่ได้มาสนับสนุนให้คนกู้เงิน
แต่ถ้าไม่มีเงินจริง ๆ และเงินกู้ มันจะช่วยให้เรามีการศึกษา พัฒนาอาชีพ ทำให้พึ่งตัวเองได้ และเป็นที่พึ่งให้ลูก ๆ และพ่อแม่ได้
ครูก็คิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ดี
:::
คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่า คนที่อยากเรียนคอร์สต่าง ๆ ของครูจริง ๆ แต่ต้องวางแผนการใช้เงินแบบเดือนชนเดือน สามารถบอกความจำเป็น และผ่อนจ่ายได้ ปกติครูจะให้แบ่งเป็น ๒ หรือ ๓ ครั้ง เพื่อที่นักเรียนจะได้เริ่มเรียนและได้ความรู้เลย
และความรู้นั้น จะช่วยให้นักเรียนมีชีวิตที่ดีขึ้น
ขอบคุณนักเรียนที่มีวินัย ทำให้เราคงระบบนี้ไว้จนถึงปัจจุบันนี้
กอด ๆ และเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ
มะกรูด
ปล. บริษัทครูทำงานกัน ๒ คน และระบบส่วนใหญ่จะเป็นอัตโนมือ ครูต้องลงบัญชีรายรับรายจ่ายของบริษัทเองทุกเดือนนอกเหนือจากการทำงานล่าม และสอน ทำให้จำนวนครั้งในการแบ่งจ่ายอยู่ที่ ๒ ถึง ๓ ครั้งค่ะ